- ปรับปรุงล่าสุด 10/16/2023
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ฤดูร้อนของเมืองไทยอย่างเป็นทางการจ้า แค่เดือนกุมภาพันธ์แดดยังร้อนแรงขนาดนี้ นึกถึงเดือนเมษายนสิคะทุกคน พี่รัศมีแทบจะอยากเอาตัวเองแช่ในบ่อน้ำเย็น ในช่วงฤดูร้อนนี้พวกเราจะได้ไปอวดผิวสวยๆกันที่ทะเลหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งสนุกๆ ไม่ว่าจะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดยาวที่จะมีโอกาสออกไปท่องโลกกว้างเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ
แต่พวกเราก็อดกังวลใจไม่ได้ว่าเจ้าแดดตัวร้ายจะฝากผิวไหม้แดดไว้ที่เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบหน้าของเราที่มักเกิดอาการหน้าไหม้แดดได้อย่างง่ายดายหากเราไม่ได้ปกป้องดีๆ
วันนี้พี่รัศมีจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจอาการผิวไหม้แดดให้มากขึ้น พร้อมกับแนะนำ 6 วิธีรักษาผิวไหม้แดด ที่จะช่วยกู้ผิวหน้าหมองคล้ำ ไหม้แดด ให้กลับมาสวยปิ๊งเหมือนเดิม
ผิวไหม้แดด คืออะไร
“ผิวไหม้แดด” (Sunburn) คือ อาการที่บริเวณผิวหนังของเราเกิดการอักเสบ แดง และแสบร้อนจากการรับรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี (UV) ที่มากหรือนานเกินไป เป็นอีกหนึ่งปัญหาผิวที่พบได้บ่อย และพี่รัศมีบอกได้เลยว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ในปัจจุบันนี้
ด้วยสภาพแวดล้อมและแสงแดดที่แรงมากๆทวีคูณในทุกๆ ปี โดยอาการผิวไหม้แดด ส่วนมากจะเกิดขึ้นบริเวณที่โดนรังสียูวีได้ง่าย เช่น หนังศีรษะ ริมฝีปาก ดวงตา แขน เป็นต้น
ปัญหาผิวไหม้แดด ผิวหมองคล้ำ เกิดจากอะไร ?
พี่รัศมีคงบอกได้ว่า หลักๆแล้วปัญหาผิวไหม้แดดที่พวกเรากังวลนั้น มักมีสาเหตุเกิดจากการที่ผิวหนังเจอกับแสงแดดอย่างแรงเป็นระยะเวลานานเกิน 15 นาที โดยไม่ได้รับการปกป้อง หรือออกแดดเป็นเวลายาวนานโดยไม่ทาครีมกันแดด ซึ่งส่วนมากพบในกลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้ง หรือชอบทำกิจกรรมเล่นกีฬากลางแจ้ง
หากเราไม่ป้องกันผิวด้วยการทากันแดดแล้วนั้น จะส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อน คัน แดงที่ผิวหนัง มีอาการระคายเคือง เกิดเป็นตุ่มใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผิวหน้าซึ่งเป็นบริเวณที่บอบบางมากๆ การโดนแดดเป็นระยะเวลานานจะทำให้ผิวเกิดการหมองคล้ำอย่างเห็นได้ชัดที่สุด และหากโดนแดดสะสมไปนานๆ ก็จะทำให้เกิดฝ้าแดดได้ แต่ทุกคนยังไม่ต้องตื่นตระหนกจนเกินไป พี่รัศมีอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ระดับความรุนแรงของอาการผิวไหม้สามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับของผิวไหม้จากแดด
ผิวไหม้ระดับแรก
ผิวยังปกติแต่มีความแดงเกิดขึ้น และอาจมีอาการเจ็บปวดเล็กน้อย เมื่อผ่านไปสัก 3-5 วัน อาจมีผิวลอกเกิดขึ้น เนื่องจากการผลัดของเซลล์ผิวหนัง หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้นจนกลับมาเป็นปกติ
ผิวไหม้ระดับสอง
จะมีอาการแสบคัน ผิวแดง บวม และรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าระดับแรก หากเราสัมผัสผิวบริเวณที่เกิดการไหม้แดด ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา 5-7 วัน เพื่อฟื้นบำรุงให้ผิวกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ผิวไหม้ระดับสาม
มีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังมากกว่าปกติ มีอาการแดง คัน และอาจมีตุ่มน้ำใสๆ เกิดขึ้น หากอยู่ในระดับนี้พี่รัศมีแนะนำว่า ทุกคนควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำและแนวทางการดูแลรักษาผิวไหม้แดดอย่างถูกวิธี อาจใช้เวลามากกว่า 2 สัปดาห์ ในการฟื้นบำรุงผิวไหม้แดดในระดับนี้
จากระดับความรุนแรงข้างต้น พี่รัศมีคิดว่า หากเราต้องเผชิญกับแสงแดดเป็นระยะเวลานานจนเกิด ปัญหาหน้าไหม้แดด หรือผิวคล้ำเสียสะสมมากขึ้น อย่างเช่นในระดับแรกและสอง เรายังสามารถจัดการดูแลฟื้นฟูตัวเองได้
โดยพี่รัศมีมี 6 วิธีขั้นต้นที่พวกเราสามารถดูแลด้วยตัวเองง่ายๆ ที่บ้านได้ ตามพี่รัศมีมาเลย
6 วิธีรักษาผิวไหม้แดด
1. วิธีรักษาผิวไหม้แดดจากการทาครีมกันแดด
วิธีรักษาผิวไหม้แดดควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ซึ่งควรใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอและทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง พี่รัศมี 10 ครีมกันแดดทาตัวและ 8 ครีมกันแดดทาหน้า ตัวเด็ด ยี่ห้อดัง ราคาถูกอีกต่างหาก มาแนะนำให้ทุกคนค่ะ ใครอยากได้กันแดดเตรียมพร้อมไว้สำหรับหน้าร้อนนี้ ตามไปเลือกซื้อจากส่วนลดกันได้เลย
2. วิธีรักษาผิวไหม้แดดโดยใช้เจลว่านหางจระเข้
เพื่อบำรุงผิวและป้องกันผิวไหม้ รวมไปถึงช่วยให้ความชุ่มชื่นของผิวอีกด้วย
3. แต่งกายมิดชิดป้องกันผิวไหม้แดด
วิธีรักษาผิวไหม้แดดโดยการปกป้องผิวบริเวณร่างกายจากแดด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ที่สามารถป้องกันรังสียูวีจากแดดได้
4. วิธีรักษาผิวไหม้แดดโดยการแช่น้ำแข็ง
วิธีรักษาผิวไหม้แดดโดยการใช้น้ำเย็นช่วยลดอาการอักเสบจากการสัมผัสแดดเป็นเวลานานได้ และมีการวิจัยออกมาอย่างมากมายเกี่ยวกับ ประโยชน์จากการแช่น้ำเย็นจัด โดยอาจ แช่ตัวในอ่างอาบน้ำ หรือแช่ตัวในสระว่ายน้ำเพื่อบรรเทาอาการผิวไหม้แดด แต่ก็มีข้อเสียคือต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ในอ่างน้ำแข็งนานเกินไปหรือใช้น้ำแข็งโดยตรงกับผิวหนัง เพราะอาจทำให้ผิวหนังเสียหายมากขึ้นได้ หากว่ามีอาการรุนแรงจากการถูกแดดเผา เช่น ตุ่มพองหรือมีไข้ ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วเลยค่ะ ทุกคนอย่าเพิ่งคิดจะเอาน้ำแข็งมาถูผิวเลยนะคะ เราไม่ควรใช้น้ำแข็งถูลงบนผิวบริเวณที่ไหม้แดดทันที เนื่องจากความเย็นของน้ำแข็งจะทำลายผิวจนทำให้ผิวเสียมากขึ้น
5. ดื่มน้ำให้มากๆช่วยรักษาผิวไหม้แดด
ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะผิวต้องการความชุ่มชื้นเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูตนเอง และเราก็ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่ม เช่น โซดา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ทำให้ร่างกายขาดน้ำนั่นเอง
6. หลีกเลี่ยงการออกข้างนอกในเวลาแดดแรง
เราควรเลือกช่วงเวลาในการออกแดด เช่นช่วง 10.00 – 14.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่แดดแรงมาก หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกจริงๆ ก็ควรเดินในที่ร่มและทาครีมกันแดดทุกครั้งนะคะทุกคน
อาการที่ควรระวังเวลาตากแดดนานๆ
ทุกคนคะ พี่รัศมีอยากให้ทุกคนสังเกตตัวเองดีๆนะ เพราะอาการหลังโดนแดดของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ในกรณีที่มีอาการไม่หนักมาก เช่น มีรอยไหม้แดงเล็กน้อย ไม่มีแผลพุพอง ไม่มีไข้ เรายังสามารถดูแลรักษาตัวเองได้ด้วยวิธีการบำรุงเบื้องต้น ซึ่งโดยปกติอาการจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเรามีอาการอื่นๆแทรกซ้อนขึ้นมา อาจจะก่อให้เกิด โรคลมแดด ได้ เช่น
รู้สึกหน้ามืด และ ชีพจรเต้นเร็วจากแดด
นี่คือสัญญาณของภาวะขาดน้ำค่ะ เกิดได้บ่อยเวลาที่เราอยู่กลางแดดนานๆและอ่อนเพลียจากความร้อน ร่างกายสูญเสียน้ำอย่างมากและขับออกผ่านการเสียเหงื่อ ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
กระหายน้ำและปัสสาวะไม่ออกจากการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
อาการเหล่านี้จะบ่งบอกถึงภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะน้อยลงและทำให้ปัสสาวะลำบากขึ้น
อาการคลื่นไส้หรืออาเจียนจากการตากแดด
จะมีอาการอ่อนเพลียจากความร้อนอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการท้องร่วง เนื่องจากร่างกายพยายามกำจัดสารพิษ
อาการหนาวสั่นจากแดด
เพราะว่าร่างกายต้องการควบคุมอุณหภูมิใครคงให้กับร่างกายที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป
รอยไหม้บนร่างกายเกิดแผลพุพองจากแสงแดด
มีการติดเชื้อในแผล เช่น แผลบวม มีหนอง หากตุ่มพองจากแสงแดดแตกออก อาจทำให้เกิดแผลเปิดที่ไวต่อการติดเชื้อได้ ถ้าแผลบวมแดงและมีหนอง แสดงว่าอาจติดเชื้อ พี่รัศมีแนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพราะอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิต
ส่งท้ายบทความ 6 วิธีรักษาผิวไหม้แดด
ทุกคนคะ ในช่วงเวลาต่อจากนี้ที่พวกเราจะต้องพบเจอกับแสงแดดที่แรงมากขึ้นในทุกๆวัน พี่รัศมีหวังว่า ทุกคนจะสามารถใช้ 6 วิธีรักษาผิวไหม้แดด ที่พี่รัศมีแนะนำในวันนี้ ไปดูแลบำรุงรักษาผิวให้ยังคงสวยปิ๊ง ก่อนที่เราจะพร้อมโชว์ผิวสวย พร้อมท้าแดดกัน ในช่วงฤดูร้อนนี้